วันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2554

กฎหมายลิขสิทธิ์

เรื่อง : กฎหมายลิขสิทธิ์
   กฎหมายลิขสิทธิ์นั้นถือว่าเป็นกฎหมายที่มีความเกี่ยวข้องกับการให้บริการยืมระหว่างห้องสมุดของสถาบันสารสนเทศเป็นอย่างมาก ในเรื่องของการสำเนาเอกสารหรือบทความจากสิ่งพิมพ์หรือทรัพยากรสารสนเทศประเภทอื่นๆ ซึ่งจะต้องขออนุญาตและได้รับอนุญาตจากผู้เป็นเจ้าของก่อนการสำเนา คัดลอกหรือดัดแปลงเอกสารต่างๆ เพื่อเป็นการป้องกันการละเมิดกฎหมายลิขสิทธิ์ อีกทั้งเป็นการเคารพและให้เกียรติผู้เป็นเจ้าของผลงานสร้างสรรค์นั้นด้วย

กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา

กฎหมายลิขสิทธิ์ คือ เป็นกฎหมายที่มีผลบังคับใช้เมื่อ พ.ศ. 2537กำหนดงานที่ได้รับความคุ้มครอง อันได้แก่ งานสร้างสรรค์ประเภท วรรณกรรม นาฏกรรมศิลปกรรม ดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง งานแพร่เสียงแพร่ภาพ หรืองานอื่นใดในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ ของผู้สร้างสรรค์ ไม่ว่างานดังกล่าวจะแสดงออกโดยวิธีหรือรูปแบบอย่างใด
งานด้านวรรณกรรมที่กฎหมายลิขสิทธิ์คุ้มครอง ได้แก่ งานนิพนธ์ที่ทำขึ้นทุกชนิด เช่น หนังสือ จุลสาร สิ่งเขียน สิ่งพิมพ์ ปาฐกถา เทศนา คำปราศรัย สุนทรพจน์ รวมถึง โปรแกรมคอมพิวเตอร์ การคุ้มครองงานสร้างสรรค์เหล่านี้จะเกิดขึ้นทันทีเมื่อสร้างขึ้นโดยไม่มีขั้นตอนทางกฎหมายใดๆและไม่จำต้องมีการเผยแพร่ผลงานสู่สาธารณชนก่อน จึงหมายความว่า เมื่อท่านสร้างสรรค์งานหรือเขียนงานนิพนธ์ขึ้นชิ้นหนึ่ง กฎหมายให้ความคุ้มครองงานชิ้นนั้นทันที เจ้าของผลงานเท่านั้นมีสิทธิ์ในการเผยแพร่งานสู่สาธารณชน เว้นแต่ได้รับความยินยอมหรืออนุญาตจากเจ้าของ หากผู้ใดทำละเมิดนำงานไปเผยแพร่ คัดลอก ดัดแปลง ไม่ว่าบางส่วนหรือทั้งหมด จักต้องรับโทษอาญาและชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งแก่ผู้สร้างสรรค์งานชิ้นนั้น
ขอบเขตคุ้มครองงานสร้างสรรค์

เมื่อสร้างสรรค์งานแล้วได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายลิขสิทธิ์ จึงต้องรับรู้สิทธิของผู้เป็นเจ้าของว่ามีขอบเขตคุ้มครองกว้างขวางมากเพียงใด โดยกฎหมายกำหนดสิทธิไว้ดังต่อไปนี้
  1. ทำซ้ำหรือดัดแปลง
  2. เผยแพร่ต่อสาธารณชน
  3. ให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ และสิ่งบันทึกเสียง
  4. ให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์แก่ผู้อื่น
  5. อนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิดังกล่าวข้างต้น โดยจะกำหนดเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ก็ได้ แต่เงื่อนไขดังกล่าวจะกำหนดในลักษณะที่เป็นการจำกัดการแข่งขันโดยไม่เป็นธรรมไม่ได้
เจ้าของงานอันมีลิขสิทธิ์แต่ผู้เดียวมีอำนาจกระทำทั้ง 5 ข้อนี้ ผู้ใดที่ทำละเมิดสิทธิของเจ้าของงานซึ่งกฎหมายคุ้มครองไว้ จักต้องรับโทษอาญาและจ่ายค่าเสียหายทางแพ่งแก่เจ้าของงาน การคุ้มครองสิทธิในงานอันมีลิขสิทธิ์ช่วยส่งเสริมให้คนไทยมีกำลังใจในการสร้างสรรค์งานใหม่ มิใช่การคัดลอก ดัดแปลง งานของผู้อื่น กฎหมายจึงกำหนดบทลงโทษหนักและค่าปรับที่สูงมาก ซึ่งไม่คุ้มกับการเสียเวลาคัดลอกงานแล้วอ้างเป็นฝีมือของตน นอกจากนั้นยังเสียโอกาสในการแสดงฝีมือสร้างสรรค์งานของตัวเองไป การเป็นแค่เงาดำจักต้องอยู่ข้างหลังตัวตนแท้จริงเสมอ ถ้ามีฝีมือเก่งจริง ต้องก้าวออกจากเงามืดแล้วปรากฏกายแสดงพลังแท้จริงให้ประจักษ์แก่สายตาของผู้อื่นเพื่อชื่นชมผลงานของตน
การละเมิดลิขสิทธิ์

กฎหมายลิขสิทธิ์กำหนดพฤติกรรมใดว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์งานของผู้อื่นไว้ชัดเจน ได้แก่ การทำซ้ำหรือดัดแปลง เผยแพร่งานต่อสาธารณชน ซึ่งงานลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยมิได้รับอนุญาต ส่วนงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้นได้เพิ่มการกระทำละเมิดอีกอย่างหนึ่งไว้ คือ การให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางาน หากผู้ใดกระทำการดังกล่าว ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ต้องรับโทษอาญาและจ่ายค่าเสียหายแก่เจ้าของงานด้วย หากผู้ใดรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานใดได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น กระทำการต่อไปนี้แก่งานนั้นเพื่อหากำไร ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย ได้แก่
  1. ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย ให้เช่า เสนอให้เช่า ให้เช่าซื้อ หรือเสนอให้เช่าซื้อ
  2. เผยแพร่ต่อสาธารณชน
  3. แจกจ่ายในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์
  4. นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร
การละเมิดนำงานลิขสิทธิ์ไปหากำไรโดยรู้หรือมีเหตุควรรู้ได้ จะใช้ลงโทษ เจ้าของร้านค้า ผู้จัดการ ลูกจ้างที่รู้ชัดหรือมีเหตุควรรู้ว่า กำลังขาย เผยแพร่ นำเข้า งานอันมีลิขสิทธิ์ ดังนั้น ร้านค้าใดขายแผ่นซีดีเพลงหรือภาพยนตร์ หนังสือ ซึ่งละเมิดลิขสิทธิ์ ผู้ที่ต้องรับโทษในคดีประเภทนี้ คือ เจ้าของร้าน ผู้จัดการ ลูกจ้างขายของ ซึ่งต้องรู้หรือควรรู้ว่ากำลังจำหน่ายงานละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย พวกเขาจึงรับโทษอาญาหรือจ่ายค่าเสียหายแก่เจ้าของงาน กรณีสำนักพิมพ์ผลิตหนังสือที่ละเมิดลิขสิทธิ์งานของผู้อื่น นอกจากนักเขียนที่ลอกหรือดัดแปลงงานนั้นต้องรับโทษอาญาแล้ว หากสำนักพิมพ์ทราบว่าผลิตงานโดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าของงานก่อน แล้วยังออกจำหน่ายอีก จะต้องรับโทษร่วมกับนักลอกด้วยซึ่งการทำเพื่อเห็นแก่การค้าหากำไร ผู้กระทำจะรับโทษจำคุกสูงขึ้นและปรับมากขึ้นเป็นกรณีพิเศษ ดังนั้น การผลิตงานเผยแพร่จึงต้องระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเมื่อมีการแจ้งเตือนให้พิจารณาว่าละเมิดงานลิขสิทธิ์ ต้องรีบตรวจสอบทันทีและงดเผยแพร่งานเพื่อมิให้ต้องรับโทษอาญาร่วมกับนักคัดลอกด้วย แต่สำนักพิมพ์มิได้เสียสิทธิในการเรียกค่าเสียหายจากนักคัดลอกที่สร้างความเสียหายแก่องค์กรของตน หากมีการเรียกร้องค่าเสียหายจากนักคัดลอกเหล่านั้นจะเป็นการปรามนักคัดลอกรุ่นต่อไปมิให้ยึดเป็นเยี่ยงอย่างด้วยและลดความเสียหายของตนลงได้
งานไม่มีลิขสิทธิ์

กฎหมายลิขสิทธิ์กำหนดงานที่ถือว่าไม่มีลิขสิทธิ์ไว้ด้วย หมายความว่า ทุกคนสามารถนำชิ้นงานทั้งหมดหรือบางส่วนไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือส่วนรวมได้โดยไม่ต้องขออนุญาตหรือจ่ายค่าตอบแทนก่อน อันได้แก่
  1. ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่างๆที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสารอันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
  2. รัฐธรรมนูญ และ กฎหมาย
  3. ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือ หน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
  4. คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
  5. คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่างๆตาม ข้อ 1 ถึง 4 ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่นจัดทำขึ้น


ข้อยกเว้นการละเมิดกฎหมายลิขสิทธิ์
 มาตรา 32 การกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นตามพระราชบัญญัตินี้ หากไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์และ ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร มิให้ถือว่า เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
          ภายใต้บังคับบทบัญญัติในวรรคหนึ่ง การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งาน อันมีลิขสิทธิ์ตามวรรคหนึ่งมิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้
          (1) วิจัยหรือศึกษางานนั้น อันมิใช่การกระทำเพื่อหากำไร
          (2) ใช้เพื่อประโยชน์ของตนเอง หรือเพื่อประโยชน์ของตนเองและบุคคลอื่น ในครอบครัวหรือญาติสนิท
          (3) ติชม วิจารณ์ หรือแนะนำผลงานโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ในงานนั้น
          (4) เสนอรายงานข่าวทางสื่อสารมวลชนโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของ ลิขสิทธิ์ในงานนั้น
          (5) ทำซ้ำ ดัดแปลง นำออกแสดง หรือทำให้ปรากฏ เพื่อประโยชน์ในการ พิจารณาของศาลหรือเจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจตามกฎหมาย หรือในการรายงานผลการ พิจารณาดังกล่าว
          (6) ทำซ้ำ ดัดแปลง นำออกแสดง หรือทำให้ปรากฏโดยผู้สอน เพื่อประโยชน์ ในการสอนของตน อันมิใช่การกระทำเพื่อหากำไร 
          
          (7) ทำซ้ำ ดัดแปลงบางส่วนของงาน หรือตัดทอนหรือทำบทสรุปโดยผู้สอน หรือสถาบันศึกษา เพื่อแจกจ่ายหรือจำหน่ายแก่ผู้เรียนในชั้นเรียนหรือในสถาบันศึกษา ทั้งนี้ ต้องไม่เป็นการกระทำเพื่อหากำไร
          (8 ) นำงานนั้นมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการถามและตอบในการสอบ 

มาตรา 35 การกระทำแก่โปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ หากไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อหากำไร และได้ปฏิบัติตาม มาตรา 32 วรรคหนึ่ง ในกรณีดังต่อไปนี้
          (1) วิจัยหรือศึกษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น
          (2) ใช้เพื่อประโยชน์ของเจ้าของสำเนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น
          (3) ติชม วิจารณ์ หรือแนะนำผลงานโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของ ลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น
          (4) เสนอรายงานข่าวทางสื่อสารมวลชนโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของ ลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น
          (5) ทำสำเนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในจำนวนที่สมควรโดยบุคคลผู้ซึ่งได้ซื้อ หรือได้รับโปรแกรมนั้นมาจากบุคคลอื่นโดยถูกต้อง เพื่อเก็บไว้ใช้ประโยชน์ในการบำรุงรักษา หรือป้องกันการสูญหาย
          (6) ทำซ้ำ ดัดแปลง นำออกแสดง หรือทำให้ปรากฏเพื่อประโยชน์ใน การพิจารณาของศาลหรือเจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจตามกฎหมาย หรือในการรายงาน ผลการพิจารณาดังกล่าว
          (7) นำโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้นมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการถามและตอบ ในการสอบ
          (8 ) ดัดแปลงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในกรณีที่จำเป็นแก่การใช้
          (9) จัดทำสำเนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อเก็บรักษาไว้สำหรับการอ้างอิง หรือค้นคว้าเพื่อประโยชน์ของสาธารณชน 

การใช้ที่เป็นธรรม (Fair Use)
   การกระทำงานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นตามพระราชบัญญัตินี้ หากไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์และ ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร มิให้ถือว่า เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ 
   โดยการกำหนดให้การใช้งานลิขสิทธิ์ในบางลักษณะสามารถทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ เพราะถือว่าเป็นการใช้ที่เป็นธรรม เช่น การใช้งานในการเรียนการสอน การเสนอการรายงานข่าวหรือการใช้งานโดยบรรณารักษ์ห้องสมุด เป็นต้น


การใช้ที่เป็นธรรมโดยการไม่ละเมิดกฎหมายลิขสิทธิ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น