วันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

บริการสอนการใช้

สรุปกระบวนวิชา 009355 : บริการห้องสมุดและบริการสารสนเทศ (8/07/2011)


เรื่อง : บริการสอนการใช้
บริการสอนการใช้ คือ เป็นบริการที่บรรณารักษ์ภายในห้องสมุดจะต้องเป็นผู้ให้บริการแก่ผู้ใช้โดยการสอนหรือสร้างทักษะการรู้สารสนเทศให้แก่ผู้ใช้ หรืออาจเรียกบริการนี้อีกอย่างหนึ่งว่า ทักษะการรู้สารสนเทศ (Information Literacy) ซึ่งทักษะการรู้สารสนเทศ คือ ความสามารถในการสืบค้นข้อมูลสารสนเทศที่ต้องการ โดยต้องทราบความต้องการของตนเองก่อนเป็นลำดับแรกว่าตนต้องการสารสนเทศแบบใด อีกทั้งรู้ถึงแหล่งที่จะสามารถสืบค้นสารสนเทศที่ตรงกับความต้องการของตนเองได้ นอกจากนี้ยังสามารถประเมินความน่าเชื่อถือที่ได้จากการค้นสารสนเทศและสามารถนำสารสนเทศที่ได้ไปใช้อย่างมีจริยธรรม จากกระบวนการดังกล่าวนี้จึงจะทำให้ให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต
การรู้สารสนเทศ (Information literacy) หมายถึง ความรู้ความสามารถและทักษะของบุคคลในการเข้าถึงสารสนเทศ ประเมินสารสนเทศที่ค้นมาได้ และใช้สารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพทุกรูปแบบ ผู้รู้สารสนเทศจะต้องมีทักษะในด้านต่างๆ เช่น ทักษะการคิดวิเคราะห์และ / หรือ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ ทักษะการใช้ภาษา ทักษะการใช้ห้องสมุด ทักษะการใช้คอมพิวเตอร์ เป็นต้น เป็นการช่วยให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงสารสนเทศได้ด้วยตนเอง เป็นกระบวนการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life long Learning) รวมถึงการเรียนรู้วิธีการค้นหาสารสนเทศด้วยตนเองไปในอนาคตด้วย
-  Bibliographic Instruction (Bl) เป็นชื่อเดิมของ Information Literacy หรือ Information services บางห้องสมุดเรียกว่า Information


การรู้สารสนเทศ

องค์ประกอบของการรู้สารสนเทศ
   การรู้สารสนเทศเป็นทั้งความรู้ ความสามารถ ทักษะ และกระบวนการอันเป็นประโยชน์ในการพัฒนา การเรียนรู้ทุกรูปแบบ อีกทั้งเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต จึงมีการแบ่งองค์ประกอบของการรู้สารสนเทศไว้ 5 ประการ คือ
1. ความสามารถในการตระหนักว่าเมื่อใดจำเป็นต้องใช้สารสนเทศ ผู้เรียนจะต้องกำหนดเรื่องที่จะศึกษาค้นคว้า กำหนดความต้องการสารสนเทศ ระบุชนิดและรูปแบบที่หลากหลายของแหล่งสารสนเทศที่จะศึกษา เช่น ห้องสมุด ศูนย์สารสนเทศ พิพิธภัณฑ์ หอจดหมายเหตุ บุคคล สถานที่ อินเทอร์เนต เป็นต้น รวมทั้งตระหนักถึงค่าใช้จ่ายและประโยชน์ที่ได้รับ และทราบขอบเขตของสารสนเทศที่จำเป็น
2. การเข้าถึงสารสนเทศ ผู้เรียนสามารถเลือกวิธีการค้นคืนสารสนเทศที่เหมาะสม กำหนดกลยุทธ์การค้นคืนอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถค้นคืนสารสนเทศออนไลน์หรือสารสนเทศจากบุคคลโดยใช้วิธีการที่หลากหลายสามารถปรับกลยุทธ์การค้นคืนที่เหมาะสมตามความจำเป็น รวมถึงการตัดตอน บันทึก และการจัดการสารสนเทศและแหล่งสารสนเทศ
3. การประเมินสารสนเทศ ผู้เรียนสามารถสรุปแนวคิดสำคัญจากสารสนเทศที่รวบรวม โดยใช้เกณฑ์การประเมินสารสนเทศและแหล่งสารสนเทศ ได้แก่ ความน่าเชื่อถือ ความเที่ยงตรง ความถูกต้อง และความทันสมัย สามารถสังเคราะห์แนวคิดหลักเพื่อสร้างแนวคิดใหม่ เปรียบเทียบความรู้ใหม่กับความรู้เดิมเพื่อพิจารณาว่าอะไรคือสิ่งที่เพิ่มขึ้น อะไรคือสิ่งที่ขัดแย้งกัน และอะไรคือสิ่งที่คล้อยตามกัน
4. ความสามารถในการนำเสนอสารสนเทศ เมื่อผู้เรียนมีการสังเคราะห์สารสนเทศและมีการประเมินความน่าเชื่อถือของสารสนเทศที่ตรงกับความต้องการได้แล้ว ก็ต้องนำสารสนเทศที่ได้นั้นมานำเสนอข้อมูลให้บุคคลอื่นได้ทราบเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน อีกทั้งข้อมูลที่นำเสนอนนั้นจะต้องเป็นข้อมูลที่เหมาะสมกับยุคสมัย สอดคล้องกับความต้องการของสังคมแห่งยุคการเรียนรู้ในปัจจุบัน จึงจะทำให้เกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ๆ สะสมอยู่ในตัวบุคคลมากยิ่งขึ้น
5. ความสามารถในการใช้สารสนเทศที่ต้องการอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้เรียนสามารถใช้สารสนเทศใหม่ผนวกกับสารสนเทศที่มีอยู่ในการวางแผนและสร้างผลงาน หรือการกระทำตามหัวข้อที่กำหนดทบทวนกระบวนการ พัฒนาการผลิตผลงานของตนเอง และสามารถสื่อสารหรือเผยแพร่ผลงานของตนเองต่อบุคคลอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งสามารถนำสารสนเทศที่ได้ไปใช้อย่างมีจริยธรรม


ทักษะการรู้สารสนเทศ

นอกจากความสามารถดังกล่าวแล้ว ผู้เรียนควรมีคุณสมบัติในด้านอื่นๆ ประกอบอีก ได้แก่
1. การรู้ห้องสมุด (Library literacy)  ผู้เรียนต้องรู้ว่า ห้องสมุดเป็นแหล่งรวบรวมสารสนเทศในสาขาวิชาต่างๆ ไว้ในรูปแบบที่หลากหลายทั้งในรูปสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโสตทัศน์ และสื่ออิเลกทรอนิกส์ รู้วิธีการจัดเก็บสื่อ รู้จักใช้เครื่องมือช่วยค้นต่างๆ รู้จักกลยุทธ์ในการค้นคืนสารสนเทศแต่ละประเภท รวมทั้งบริการต่างๆ ของห้องสมุด โดยเฉพาะห้องสมุดของสถาบันการศึกษาที่ผู้เรียนกำลังศึกษาอยู่จะต้องรู้จักอย่างลึกซึ้งในประเด็นต่างๆ ดังกล่าวแล้ว การรู้ห้องสมุดครอบคลุมการรู้แหล่งสารสนเทศอื่นๆด้วย
2. การรู้คอมพิวเตอร์ (Computer Literacy)  ผู้เรียนต้องรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เบื้องต้นในเรื่องของฮาร์ดแวร์ ซอฟแวร์ การเชื่อมประสาน และการใช้ประโยชน์จากคอมพิวเตอร์ เช่น การพิมพ์เอกสาร การส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ การใช้อินเตอร์เนตในการติดต่อสื่อสาร รวมถึงการรู้ที่ตั้งของแหล่งสารสนเทศ เป็นต้น
3. การรู้เครือข่าย (Network Literacy)  ผู้เรียนต้องรู้ขอบเขตและมีความสามารถในการใช้สารสนเทศทางเครือข่ายที่เชื่อมโยงถึงกันทั่วโลก สามารถใช้กลยุทธ์การสืบค้นสารสนเทศจากเครือข่าย และการบูรณาการสารสนเทศจากเครือข่ายกับสารสนเทศจากแหล่งอื่นๆ
4. การรู้เกี่ยวกับสิ่งที่เห็น (Visual Literacy)  ผู้เรียนสามารถเข้าใจและแปลความหมายสิ่งทีเห็นได้รวมถึงความสามารถในการคิดวิเคราะห์ การเรียนรู้ การแสดงความคิดเห็น และสามารถใช้สิ่งที่เห็นนั้นในการทำงานและการดำรงชีวิตประจำวันของตนเองได้
5. การรู้สื่อ (Media Literacy)  ผู้เรียนต้องสามารถเข้าถึง วิเคราะห์ และผลิตสารสนเทศจากสื่อต่างๆ เช่น โทรทัศน์ ภาพยนตร์ วิทยุ ดนตรี หนังสือพิมพ์ นิตยสาร เป็นต้น รู้จักเลือกรับสารสนเทศจากสื่อที่แตกต่างกัน รู้ขอบเขตและการเผยแพร่สารสนเทศของสื่อ เข้าใจถึงอิทธิพลของสื่อ และ สามารถพิจารณาตัดสินได้ว่าสื่อนั้นๆ มีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงไร แล้วจึงค่อยเชื่อถึงข้อมูลที่สื่อนั้นได้นำเสนออกมา
6. การรู้สารสนเทศดิจิทัล (Digital Literacy)  ผู้เรียนสามารถเข้าใจและใช้สารสนเทศรูปแบบซึ่งนำเสนอในรูปดิจิทัลผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ ตัวอย่างการรู้สารสนเทศดิจิทัล เช่น สามารถดาวน์โหลดไฟล์ข้อมูลจากแหล่งทรัพยากรสารสนเทศที่เข้าถึงในระยะไกลมาใช้ได้ รู้ว่าคุณภาพสารสนเทศที่มาจากเว็บไซต์ต่างๆ แตกต่างกันรู้ว่าเว็บไซต์น่าเชื่อถือและเว็บไซต์ไม่น่าเชื่อถือ รู้จักโปรแกรมการค้นหา สามารถสืบค้นโดยใช้การสืบค้นขั้นสูง รู้เรื่องของกฎหมายลิขสิทธิ์ที่คุ้มครองทรัพยากรสารสนเทศบนเว็บไซต์ การอ้างอิงสารสนเทศจากเว็บไชต์ เป็นต้น
7. การมีความรู้ด้านภาษา (Language Literacy)  ผู้เรียนมีความสามารถกำหนดคำสำคัญสำหรับการค้น ในขั้นตอนการค้นคืนสารสนเทศที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ การค้นสารสนเทศจากอินเตอร์เนต และการนำเสนอสารสนเทศที่ค้นมาได้ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่จำเป็นมากที่สุด เนื่องจากเป็นภาษาสากล และสารสนเทศส่วนใหญ่เผยแพร่เป็นภาษาอังกฤษ
8. การคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking)  ผู้เรียนสามารถคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ ตัดสินใจเลือกรับสารสนเทศที่นำเสนอไว้หลากหลาย โดยการพิจารณาทบทวนหาเหตุผล จากสิ่งที่เคยจดจำ คาดการณ์ โดยยังไม่เห็นคล้อยตามสารสนเทศที่นำเสนอเรื่องนั้นๆ แต่จะต้องพิจารณาใคร่ครวญไตร่ตรองด้วยความรอบคอบและมีเหตุผลว่าสิ่งใดสำคัญมีสาระก่อนตัดสินใจเชื่อ จากนั้นจึงดำเนินการแก้ปัญหา
9. การมีจริยธรรมทางสารสนเทศ (Information Ethic)  การสร้างผู้เรียนให้เป็นคนดี มีคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณ มีความสำคัญและเป็นเป้าหมายหลักของการจัดการศึกษา เพื่อปลูกฝังผู้เรียนให้รู้จักใช้สารสนเทศโดยชอบธรรมบนพื้นฐานของจริยธรรมทางสารสนเทศ เช่น การนำข้อความหรือแนวคิดของผู้อื่นมาใช้ในงานของตนจำเป็นต้องอ้างอิงเจ้าของผลงานเดิม การไม่นำข้อมูลที่ขัดต่อศีลธรรมและจรรยาบรรณของสังคมไปเผยแพร่ เป็นต้น

การเรียนรู้ตลอดชีวิต

การให้บริการสอนการใช้ของห้องสมุด ห้องสมุดจัดบริการ 2 ลักษณะ ดังนี้
1. บริการสอน/แนะนำเฉพาะบุคคล เป็นการให้บริการแก่ผู้ใช้เฉพาะเป็นรายบุคคลโดยเป็นการให้บริการจากบรรณารักษ์ ซึ่งบรรณารักษ์จะต้องบริการให้คำแนะนำแก่ผู้ใช้ในเรื่อง การให้บริการต่างๆภายในห้องสมุด เช่น บริการยืม-คืน บริการยืมระหว่างห้องสมุด บริการหนังสือสำรองแก่ผู้ใช้ เป็นต้น อีกทั้งการอธิบายการใช้ฐานข้อมูลในการสืบค้นทรัพยากรสารสนเทศให้แก่ผู้ใช้ การชี้แหล่งสารสนเทศที่ผู้ใช้ต้องการ การให้บริการตอบคำถามแก่ผู้ใช้ในกรณีที่ผู้ใช้เกิดปัญหาในการใช้ห้องสมุด ซึ่งแต่ละบริการดังต่อไปนี้บรรณารักษ์จะต้องมาให้คำแนะนำแก่ผู้ใช้โดยที่ผู้ใช้ไม่จำเป็นจะต้องไปขอคำแนะนำหรือถามบรรณารักษ์ก่อนก็ได้ เพราะจะเป็นการแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจต่อผู้ใช้บริการห้องสมุดของบรรณารักษ์ ส่งผลให้ผู้ใช้ห้องสมุดเกิดความประทับใจในการให้บริการและอาจกลับมาใช้บริการใหม่
2. การให้บริการเป็นกลุ่ม เป็นการให้บริการที่ผู้ใช้ห้องสมุดจะเป็นผู้ร้องขอให้บรรณารักษ์สอนการใช้ห้องสมุด ซึ่งการให้บริการในแต่ละครั้งบรรณารักษ์จะจัดให้มีการเรียนการสอนเป็นแบบกลุ่ม คือ จัดผู้เรียนแบ่งเป็นแบบกลุ่มใหญ่ๆ แล้วให้บริการสอนการใช้แก่ผู้เรียน โดยแนะนำเรื่องการเข้าถึงสารสนเทศด้วยวิธีการต้างๆ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจและสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง ซึ่งการให้บริการแบบกลุ่มนี้อาจแบ่งออกเป็นอีก 2 ประเภท คือ
   2.1) การนำชมห้องสมุด เป็นบริการที่บรรณารักษ์ในห้องสมุดจะเป็นผู้นำผู้เรียนชมห้องสมุด เพื่ออธิบายให้ผู้ใช้ทราบถึงการให้บริการต่างๆในแต่ละแผนกของห้องสมุด และเป็นการชี้แหล่งให้ผู้เรียนทราบว่าทรัพยากรสารสนเทศแต่ละประเภทให้บริการที่ตรงไหนของห้องสมุด เพื่อความง่ายในการค้นหาและประหยัดเวลาในการสืบค้น อีกทั้งยังเป็นบริการที่สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างบรรณารักษ์และผู้ใช้ให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น ทำให้ผู้ใช้ไม่เิกิดความประหม่าในการขอรับบริการจากบรรณารักษ์ในแต่ละครั้งและยังช่วยให้การบริการของบรรณารักษ์ในห้องสมุดเป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น





บริการนำชมห้องสมุดของสำนักหอสมุด มาหาวิทยาลัยเชียงใหม่

   2.2)  บริการสอนการใช้เครื่องมือการค้น เป็นบริการที่บรรณารักษ์จะเป็นผู้ที่ให้คำแนะนำแก่ผู้ใช้เองหรือผู้ใช้อาจเป็นผู้ร้องขอคำแนะนำจากบรรณารักษ์ก็ได้ ซึ่งบริการนี้จะเป็นบริการที่บรรณารักษ์จะให้คำแนะนำในเรื่องการใช้ฐานข้อมูลในการสืบค้นทรัพยากรสารสนเทศที่ต้องการและอาจมีการฝึกฝนให้ผุ้ใช้ลองปฏิบัติจริง เพื่อให้ผุ้ใช้ได้เกิดการเรียนรู้และสามารถสืบค้นทรัพยากรสารสนเทศที่ต้องการได้ด้วยตนเองเพราะการใช้เครื่องมือในการช่วยค้นนั้นจะช่วยให้ผู้ใช้เข้าถึงทรัพยากรสารสนเทศที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว สะดวกและประหยัดเวลาในการสืบค้นมาก


บริการสอนการใช้เครื่องมือค้นของสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

การสอนเรื่องการรู้สารสนเทศ มีการสอนทั้งในระดับอุดมศึกษาและในระดับโรงเรียนเพื่อเป็นพื้นฐานให้ผู้เรียนมีทักษะการรู้สารสนเทศ ซึ่งการเีรียนการสอนเรื่องการรู้สารสนเทศนั้นก็ได้มีการจัดทำเป็นหลักสูตรของการศึกษาในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับหลักสูตรการเรียนการสอนของแต่ละสถาบันการศึกษา เป็นดังนี้
1) การสอนเป็นรายวิชาอิสระ
2) บทเรียนแบบออนไลน์
3) สมุดแบบฝึกหัด เช่น การทำสมุดคู่มือและแบบฝึกหัดการรู้สารสนเทศ
4) การสอนเป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา
5) การสอนแบบบูรณาการกับรายวิชาอื่นในหลักสูตร
ผู้ดูแลในการเรียนการสอนหรือผู้สอนเรื่องการรู้สารสนเทศนั่นก็คือ บรรณารักษ์ในห้องสมุด


การสอนเรื่องการรู้สารสนเทศในระดับอุดมศึกษา
การสอนเรื่องการรู้สารสนเทศในระดับโรงเรียน

ความสำคัญของการรู้สารสนเทศการรู้สารสนเทศมีความสำคัญต่อความสำเร็จของบุคคลในด้านต่างๆ ดังนี้
1. การศึกษา การรู้สารสนเทศเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการศึกษาของบุคคลทุกระดับ ทั้งการศึกษาในระบบโรงเรียน การศึกษานอกระบบโรงเรียน การศึกษาตามอัธยาศัย และการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาในปัจจุบัน มีการปฏิรูปการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ดังนั้นบทบาทของผู้สอนจึงเปลี่ยนเป็นผู้ให้คำแนะนำชี้แนะโดยอาศัยทรัพยากรเป็นพื้นฐานสำคัญ ต้องมีการดำเนินการให้เด็กและเยาวชนรู้สารสนเทศและเข้าถึงสารสนเทสได้ซึ่งเป็นทักษะพื้นฐาน จึงถือเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ในสถาบันการศึกษา

2. การดำรงชีวิตประจำวัน การรู้สารสนเทศเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการดำรงชีวิตประจำวัน เพราะผู้รู้สารสนเทศจะเป็นผู้ที่สามารถวิเคราะห์ประเมินและใช้สารสนเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ตนเองเมื่อต้องการตัดสินใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ถ้าต้องการทรัพยากรสารสนเทศจากห้องสมุดหรือสถาบันสารสนเทศแหล่งใดแหล่งหนึ่ง ก็ต้องพิจารณามาตรฐานของห้องสมุด คุณภาพด้านการให้บริการและทรัพยากรสารสนเทศ การให้บริการของบรรณารักษ์ และเปรียบเทียบแต่ละห้องสมุด แล้วจึงค่อยตัดสินใจไปใช้บริการ จึงจะทำให้ได้สารสนเทศที่ดีที่สุดและตรงกับความต้องการของผู้ใช้มากที่สุด เป็นต้น
3. การประกอบอาชีพ การรู้สารสนเทศมีความสำคัญต่อการประกอบอาชีพของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เพราะบุคคลนั้นสามารถแสวงหาสารสนเทศที่มีความจำเป็นต่อการประกอบอาชีพของตนเองได้ เช่น สถาบันสารสนเทศหรือห้องสมุดประสบปัญหาทางด้านการขาดแคลนทรัพยากรสารสนเทศ ก็สามารถติดต่อเครือข่ายระหว่างห้องสมุดเพื่อให้บริการยืมแก่ผู้ใช้ได้ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาของห้องสมุดได้ดี เป็นต้น
4. สังคม เศรษฐกิจ และการเมือง การรู้สารสนเทศเป็นสิ่งสำคัญโดยเฉพาะสังคมในยุคสารสนเทศ  บุคคลจำเป็นต้องรู้สารสนเทศเพื่อปรับตนเองให้เข้ากับสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง เช่น การอยู่ร่วมกันในสังคม การบริหารจัดการ การดำเนินธุรกิจและการแข่งขัน การบริหารบ้านเมืองของผู้นำประเทศ เป็นต้น อาจกล่าวได้ว่าผู้รู้สารสนเทศ คือ ผู้ที่มีอำนาจสามารถาชี้วัดความสามารถขององค์กรหรือประเทศชาติได้ ดังนั้นประชากรที่เป็นผู้รู้สารสนเทศจึงถือว่าเป็นทรัพยากรที่มีค่ามากที่สุดของประเทศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น